ประเพณีตักบาตรพระร้อย
ประวัติ / ความเป็นมา
ประเพณีตักบาตรพระร้อย นับว่าเป็นประเพณีอันดีงามของชาวจังหวัดปทุมธานีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมานับร้อยปี นอกจากชาวปทุมธานีที่ยึดถือปฏิบัติกันแล้วยังปรากฏว่า การตักบาตรพระร้อยเป็นประเพณีอย่างหนึ่งของชาวตำบลคลองสี่
ในตำบลคลองสี่ การตักบาตรพระร้อยเป็นหน้าที่ของทางวัดทุกวันจะผลัดกัน การตักบาตรพระร้อยมาจากการต้องใช้พระเป็นจำนวนมาก จึงเรียกว่าพระร้อย และความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนเป็นจำนวนมาก จึงลุล่วงไปด้วยดี การตักบาตรพระร้อยเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ของชาวตำบลคลองสี่ วัดที่จัดตักบาตรพระร้อยต้องกำหนดวันที่เรียบร้อย มักทายกวัดที่เป็นเจ้าภาพก็ไปนิมนต์พระวัดต่างๆ ตามจำนวนที่ต้องการ พร้อมกับแจ้งกำหนดงาน ประเพณีตักบาตรพระร้อยเริ่มตั้งแต่เทศกาลออกพรรษา คือ วันขี้น 15 ค่ำเดือน 11 แต่วันที่มีการตักบาตรจะเริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11
4.6 ตักบาตรน้ำผึ้ง
ความหมาย
การตักบาตรน้ำผึ้งเป็นการนำน้ำผึ้งใส่บาตรเพื่อให้พระสงฆ์นำไปใช้ในการทำยารักษาโรคในช่วงจำพรรษา
ลักษณะของประเพณี / การละเล่นพื้นบ้าน / พิธีกรรมหรือความเชื่อ
ในการทำบุญตักบาตรน้ำผึ้งจะมีการห่อข้าวต้มสำหรับทำบุญใส่บาตรพร้อมกับน้ำผึ้งด้วย
ความสำคัญ / ประโยชน์ และคุณค่าที่เกิด
ถือเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาช้านานตั้งแต่สมัยโบราณ เพราะน้ำผึ้งเป็นสิ่งที่จำเป็นมากในการทำยา และ โดยเฉพาะพระสงฆ์ไว้ใช้ยามจำเป็นในช่วงเข้าพรรษา
4.7 การเล่นหมากเก็บ
ความหมาย
การเล่นหมากเก็บเป็นการฝึกทักษะ และความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อมือ และความไวของสายตา ใช้ไหวพริบในการแก้ปัญหา เมื่ออดีตได้รับความนิยมในการเล่นในเด็กผู้หญิงมาก แต่ปัจจุบันยังมีความนิยมอยู่เฉพาะในกลุ่มเด็กประถมศึกษาเท่านั้น
ลักษณะของประเพณี / การละเล่นพื้นบ้าน / พิธีกรรมหรือความเชื่อ
การเล่นหมากเก็บ มีจำนวนผู้เล่น 2 – 5 คน อุปกรณ์การเล่นก้อนหินกลมเล็ก 5 ก้อน กติกาการเล่น วิธีการหาผู้ที่จะได้เล่นก่อนใช้วิธีขึ้นร้าน คือการกำก้อนหินทั้ง 5 ก้อนไว้ในมือแล้วโยนขึ้นไม่ให้สูงมากนัก รับก้อนหินทั้ง 5 ก้อนด้วยหลังมือแล้วโยนพร้อมกับพลิกมือหงายรับก้อนหิน ใครรับก้อนหินได้มากที่สุดจะได้เล่นก่อน การเล่นหมากเก็บจะเริ่มจากหมากตัวที่ 1 ถึงตัวที่ 4 ด้วยวิธีการโยนก้อนหินก้อนหนึ่งไปบนอากาศ แล้วเก็บก้อนหินทีละก้อนพร้อมกับรับก้อนที่โยนไปไม่ให้ตกพื้น ทำจนกว่าจะครบ 5 ก้อน หมากที่ 2 ถึงหมากที่ 4 ก็ทำเช่นเดียวกัน แต่ต่างกันตรงการเก็บลูกหิน เก็บครั้งละ 2 ครั้งละ 4 ตามลำดับ เมื่อครบหมากที่ 4 ก็ขึ้นร้าน นับคะแนนแข่งกันหลังจากขึ้นร้านแล้วก็เริ่มหมากที่ 1 ใหม่ ทำเช่นนี้จนครบ 100 คะแนน ใครครบก่อน คือผู้ชนะ ส่วนการเล่นใครทำก้อนหินตก โยนแล้วรับไม่ได้หรือเก็บไม่ครบจำนวนก็ต้องตาย ให้สิทธิ์คนอื่นเล่นต่อ
ความสำคัญ / ประโยชน์ และคุณค่าที่เกิด
เป็นการละเล่นที่มีมาแต่สมัยโบราณ สามารถฝึกสมาธิ และความสัมพันธ์ระหว่างสายตา และมือในการนับ
4.10 การทำขวัญข้าว
ประเพณีทำขวัญแม่โพสพ (ข้าว) ตามความเชื่อว่าแม่โพสพมีพระคุณจึงต้องทำขวัญเป็นการกล่าวขอขมาต่อต้นข้าวทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับข้าว ทั้งการเกิดเองตามธรรมชาติ และจากการที่มนุษย์จะกระทำอะไรก็ตามกับต้นข้าว เช่น เกี่ยวข้าว อีกทั้งเพื่อเป็นการขอบคุณและเอาใจแม่โพสพที่ให้ความอุดมสมบูรณ์แก่ผืนนา และเพื่อขออภัยและเรียกขวัญแม่โพสพ เป็นสิริมงคลดลบันดาลให้มั่งมียิ่งขึ้น ปกติจะทำกันในวันศุกร์ซึ่งถือว่าเป็นวันขวัญข้าว
ประเพณีทำขวัญข้าวของบางจังหวัด อาจมีประเพณีทำขวัญข้าว อยู่ 2 ช่วง คือ ช่วงที่ข้าวตั้งท้อง และช่วงข้าวพร้อมเกี่ยว โดยในแต่ละช่วงจะมีเครื่องเซ่นไม่เหมือนกัน เครื่องเซ่นของการทำขวัญข้าวตอนตั้งท้อง ด้วยความเชื่อที่ว่า แม่โพสพเป็นมนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตเช่นเดียวกัน พอข้าวตั้งท้อง จึงเชื่อว่าจะอยากทานอาหารเหมือนคนท้อง สิ่งที่ขาดไม่ได้ในเครื่องเซ่นช่วงดังกล่าวจึงเป็นของรสเปรี้ยว อ้อย น้ำมะพร้าว นอกเหนือจากหมาก พลู ธงกระดาษสีต่างๆ ผ้าแดง ผ้าขาว ใส่ลงในชะลอมเล็ก ๆ มีเส้นด้ายสีแดงและสีขาวเพื่อผูกเครื่องเซ่นเข้ากับต้นข้าว ดอกไม้ และด้วยความเชื่อว่าแม่โพสพเป็นผู้หญิง จึงต้องมีน้ำอบ น้ำหอมด้วย โดยคนที่ทำพิธีมักจะเป็นผู้หญิงเจ้าของที่นา แต่พิธีนี้ให้โอกาสผู้ชายทำได้แต่ไม่นิยม หลังจากมัดโยงเครื่องเซ่นกับต้นข้าวด้วยด้ายสีแดงและขาวเข้าด้วยกันแล้ว ผู้ทำพิธีจะพรมน้ำหอมแป้งร่ำต้นข้าว จากนั้นจึงจุดธูปปักลงบนที่นาพร้อมกล่าวคำขอขมาต่าง ๆ แล้วแต่ที่จะนึกได้ ส่วนมากก็จะเป็นการบอกกล่าวถึงสิ่งที่กำลังจะทำ เช่น ขอให้มีรวงข้าวสวย มีข้าวเยอะ ๆ ให้ผลผลิตสูง ๆ เมื่อพูดทุกอย่างที่อยากพูดจบก็ต้อง กู่ร้องให้แม่โพสพรับทราบเจตนาดัง ๆ
เมื่อข้าวเริ่มตั้งท้องชาวนาจะเอาไม้ไผ่มาสานชะลอมแล้วนำเครื่องแต่งตัวของหญิง เช่นแป้ง น้ำมันใส่ผม น้ำอบไทย หวี กระจกใส่ในชะลอม พร้อมด้วยขนมหวานสักสองสามอย่าง ส้มเขียวหวาน ส้มโอแกะกลีบ ปักเสาไม้ไผ่แล้วเอาชะลอมแขวนไว้ในนา เพื่อให้แม่พระโพสพแต่งตัวและเสวยสิ่งของนั้น จะได้ออกรวงได้ผลดี เขาเรียกว่า เฉลว
หลังจากพิธีทำขวัญข้าวในช่วงข้าวพร้อมเกี่ยว ก็ทำการเก็บเกี่ยวข้าวได้เลย หลังจากนั้นก็เตรียมตัวทำพิธี รับขวัญแม่โพสพ ในวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปีต่อไป แม้ว่าการทำนาปัจจุบันจะทำได้ถึงปีละ 3 ครั้งแต่ประเพณียังคงต้องทำตามการปลูกข้าวตามฤดูกาลในอดีตเท่านั้น การทำขวัญข้าว ผู้ชายสามารถทำขวัญข้าวได้ แต่รับขวัญข้าวไม่ได้เด็ดขาด
4.11 พิธีไหว้ครูดนตรีไทย
ความหมาย
1.เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศล ด้วยการถวายเครื่องสักการะ พลีกรรมแก่ปรมาจารย์ทั้งหลายทั้งปวง ที่มาประสิทธิ์ประสาทความรู้ให้แก่ศิษย์
2.เพื่อให้ผู้เรียนได้เกิดความมั่นใจในการเรียนนาฏศิลป์เป็นอย่างดี เมื่อได้ผ่านพิธีกรรมมาแล้ว
3.เพื่อเป็นการขอขมาลาโทษ หากศิษย์ได้กระทำสิ่งที่ผิดพลาดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่ว่าจะเป็นด้านกายกรรม วจีกรรม หรือมโนกรรมก็ตาม
4.เพื่อไว้สำหรับต่อท่ารำที่เป็นเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูงที่มีความเชื่อมาแต่โบราณว่า เพลงหน้าพาทย์บางเพลงจะต้องต่อท่ารำในพิธีไหว้ครู จึงจะเกิดเป็นสิริมงคล ทั้งแก่ผู้สอนและผู้เรียน
5.เพื่อเป็นสิ่งเตือนสติให้ศิษย์ระลึกถึงครู อันเป็นเครื่องเตือนใจที่จะประพฤติแต่ในสิ่งที่ดีงาม อยู่ในศีลธรรมจรรยา ตั้งตนอยู่ในโอวาทคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์
ตำนานการไหว้ครู
มีตำนานที่ถือว่าวันพฤหัสบดีเป็นวันครู นอกจากนี้ยังถือกันว่าเวลากลางวันพระพฤหัสบดีเป็นธาตุไฟ และเป็นธาตุน้ำในเวลากลางคืน เป็นดาวพระเคราะห์ที่ให้วิทยาความรู้แก่มนุษย์ เราจึงถือว่าวันพฤหัสบดีเป็นวันครู เดือนที่นิยมกระทำพิธีไหว้ครู ตามแบบโบราณนิยมให้ประกอบพิธีไหว้ครูและครอบครูในเดือนคู่ เช่น เดือน 4 เดือน 6 เดือน 8 เดือน 10 เดือน 12 และเดือนยี่ แต่มีข้อยกเว้นเดือนเดียวคือ เดือน 9 อนุโลมให้จัดพิธีได้ เพราะถือว่าเดือน 9 เป็นเลขมงคลของไทยสืบมา ในบางครั้งตามคติโบราณยังต้องระบุจันทรคติเพิ่มขึ้นด้วย โดยพิจารณาอีกว่าตรงกับวันขึ้นแรมข้างใด จะนิยมวันพฤหัสบดีข้างขึ้น เพราะข้างขึ้นถือว่าเป็นวันฟู เป็นสัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรือง
ลักษณะของประเพณี / การละเล่นพื้นบ้าน / พิธีกรรมหรือความเชื่อ
1.จัดเตรียมสถานที่และทำความสะอาดบริเวณที่จัดให้เรียบร้อย
2.เชิญหัวโขนหรือศีรษะครู ทั้งที่เป็นเทพเจ้า เทวดา ฤาษี และคนธรรพมาประดิษฐาน เพื่อเป็นประธานตั้งไว้บนโต๊ะที่เตรียมพร้อมแล้ว
3.พิธีสวดมนต์ไหว้พระ จำนวน 9 รูป
4.จัดเครื่องกระยาบวช เครื่องสังเวย เครื่องสักการะ มีดอกไม้ ธูปเทียน เครื่องสังเวยจะจัดออกเป็น 3 ชุด คือ
- ส่วนของพระมหาเทพ เทวดา นางฟ้า เป็นอาหารสุก
- ส่วนของพระครูฤาษี พระประคนธรรพ เป็นอาหารสุก
- ส่วนของพระพิราพ ซึ่งเป็นเทพอสูร เป็นอาหารดิบ
5.เชิญประธานจัดงานมาจุดธูปเทียนบูชาครู ครูผู้ประกอบพิธีแต่งชุดขาว อ่านโองการเชิญครูต่างๆ มาร่วมพิธี
6.ดนตรีบรรเลงเพลงหน้าพาทย์แต่ละเพลงตามที่ครูผู้ประกอบพิธีจะเรียกเพลง
7.ครูผู้ประกอบพิธีกล่าวถวายเพื่อเซ่นสังเวยต่างๆ ที่ได้จัดมา เสร็จแล้วกล่าวลาเครื่องเซ่นสังเวย
8.ผู้มาร่วมงานรำถวายเพื่อบูชาครู ซึ่งนิยมรำเพลงช้า – เพลงเร็ว เพลงหน้าพาทย์ชั้นสูงบางเพลง เช่น ตระนิมิตร ตระบองกัน คุกพาทย์ เป็นต้น
9.ครูผู้ประกอบพิธี ทำพิธีครอบให้ศิษย์ที่มาร่วมงาน โดยนำศรีษะครูมาครอบให้ 3 ศรีษะ คือ
- ศรีษะพระครูฤาษี อันเป็นสัญลักษณ์ครูทั่วไป
- ศรีษะพระพิราพ อันเป็นสัญลักษณ์ครูโขน
- ศรีษะเทริดโนห์รา อันเป็นสัญลักษณ์ครูละคร
10.ลูกศิษย์นำขันกำนล มีดอกไม้ ธูปเทียน ผ้าเช็ดหน้าขาว เงินกำนลครู 24 บาท ผู้ที่ได้รับครอบถือว่าเป็นศิษย์ที่มีครูแล้ว และในวงการนาฏศิลป์ได้รับคนผู้นี้เป็นนาฏศิลป์โดยสมบูรณ์
11.ลูกศิษย์ที่จะจบออกจากสถาบันเป็นปีสุดท้าย จะเข้ารับมอบ โดยครูผู้ประกอบพิธีจะส่งศรพระขันธ์ให้กับศิษย์ผู้นั้นรับไว้ เปรียบเสมือนการขออนุญาตเพื่อไปสอนศิษย์ต่อไป
12.ครูผู้ประกอบพิธีจะเจิมหน้าผาก ประพรมน้ำมนต์ พร้อมให้ของที่ระลึก และกล่าวอวยพรให้กับศิษย์ทุกคนที่เข้าพิธีไหว้ครู
13.ศิษย์ทุกคนจะรำส่งครู ซึ่งนิยมรำโปรยข้าวตอกดอกไม้เนื้อความเป็นสิริมงคลต่อไป
กำหนดวันและเดือนที่นิยมประกอบพิธีไหว้ครู
การจัดพิธีไหว้ครูมีข้อกำหนดว่าให้กระทำพิธีเฉพาะวันพฤหัสบดี อาจจะได้รับอิทธิพลมาจากพวก พราหมณ์ ซึ่งนับถือเทพเจ้านามพระพฤหัสบดีเป็นเทพฤกษ์ ในฐานะปุโรหิตาจารย์ที่เคารพนับถือของพระอินทร์และเทวดาอื่นๆ จึงนิยมไหว้ครูกันในวันพฤหัสบดี
ความสำคัญ / ประโยชน์ และคุณค่าที่เกิด
ส่วนที่จะโน้มน้าวจิตใจมนุษย์ให้รักษาความดี รักษาวิทยาการสืบเนื่องไปด้วยดี ทั้งยังจูงใจให้เป็นผู้มีนิสัยอ่อนโยนไม่แข็งกระด้างการไหว้ครู คือ การแสดงถึงความเคารพกตเวทีแด่ท่านบูรพาจารย์และครูบาอาจารย์ผู้ซึ่งได้ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้ศิษย์ ในฐานะผู้สืบทอดมรดกทางวิชาการ จึงพร้อมใจกันปวารณาตนรับการถ่ายทอดวิชาความรู้ ด้วยความวิริยะอุตสาหะมานะอดทน เพื่อจะได้เป็นความรู้ติดตัวนำไปประกอบอาชีพ เพื่อสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ตนเองในภายภาคหน้า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น